แนวข้อสอบกฎหมาย แนวข้อสอบตั๋วทนายความ สรุปย่อกฎหมาย

วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

กระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์

แผนยุทธศาสตร์ หมายถึง ทิศทางหรือแนวทางปฏิบัติตามพันธกิจและภารกิจ (Mission) ให้สัมฤทธิผลตามวิสัยทัศน์(Vision) และเป้าประสงค์ขององค์การ (Corporate Goal)   แผนยุทธศาสตร์ที่ดีนั้น จะต้องถูกกำหนดขึ้นตามวิสัยทัศน์ขององค์การ อันเป็นผลผลิตทางความคิดร่วมกันของสมาชิกในองค์การที่ได้ทำงานร่วมกันหรือจะทำงานร่วมกัน โดยวิสัยทัศน์นี้เป็นความเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นจุดหมายปลายทางที่องค์การประสงค์จะไปให้ถึง และวิสัยทัศน์นี้มีการแปลงออกมาเป็นวัตถุประสงค์(Objective) ที่เป็นรูปธรรม และสามารถวัดได้  ทั้งนี้องค์การสามารถใช้แผนยุทธศาสตร์เป็นกรอบในการประเมินผลงานประจำปีงบประมาณ   ยิ่งไปกว่านั้นองค์การยังสามารถใช้แผนยุทธศาสตร์เป็นกรอบในการจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เพื่อการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้อีกด้วย
สำหรับกระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์นั้น มีขั้นตอนดังนี้
1. การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย
(1)       การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายใน (Internal Environment) และ
(2)       การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอก (External Environment)
2. การจัดวางทิศทางขององค์การ ซึ่งประกอบด้วย
(1)       การกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision)
(2)       การกำหนดภารกิจ (Mission)
(3)       การกำหนดเป้าประสงค์ขององค์การ (Corporate Goal)
(4)       การกำหนดวัตถุประสงค์ (Objectives)
(5)       การกำหนดดัชนีชี้วัดผลงานระดับองค์การ (Organization’s Key Performance Indicators, KPIs)  และ
(6)       การกำหนดยุทธศาสตร์ (Strategy)

3. การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ เป็นการดำเนินการเพื่อทำให้ยุทธศาสตร์ที่ได้ถูกกำหนดขึ้น มีความเป็นรูปธรรม ปฏิบัติได้จริง อันจะนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ ภารกิจ และเป้าประสงค์ขององค์การ โดยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์นั้น ประกอบด้วย
(1)       การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และภัยคุกคามขององค์การ หรือที่มักนิยมเรียกกันว่า การทำศว็อท-อณาไลษิส (SWOT Analysis)  อันประกอบไปด้วยการวิเคราะห์จุดแข็ง (Strengths)  การวิเคราะห์จุดอ่อน (Weakness)  การวิเคราะห์โอกาส (Opportunities)  และการวิเคราะห์ภัยคุกคาม (Threats) ขององค์การ
(2)       การกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์
(3)       การกำหนดวัตถุประสงค์ (Objective)  ในแต่ละประเด็นยุทธศาสตร์ พร้อมทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบและหน่วยงานสนับสนุน
(4)       การกำหนดดัชนีชี้วัดผลงานระดับองค์การและระดับหน่วยงาน (Strategic Plan’s KPIs)  
(5)       กำหนดยุทธวิธี (Tactics) หรือแผนงานในการปฏิบัติ  และ
(6)       การกำหนดเป้าหมาย (Targets) ของแต่ละกิจกรรม (Activities)  พร้อมกับดัชนีชี้วัดผลงานระดับแผนปฏิบัติการ (Action Plan’s KPIs)

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Holiday