แนวข้อสอบกฎหมาย แนวข้อสอบตั๋วทนายความ สรุปย่อกฎหมาย

วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ธรรมชาติของอารมณ์

ในแต่ละวันบุคคลจะมีอารมณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย อาจจะเป็นความพึงพอใจ ความโกรธ ความร่าเริง ความเจ็บปวด ความผิดหวัง เพราะตลอดเวลาที่บุคคล อยู่ในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง บุคคลจะอยู่ภายใต้สิ่งเร้า (stimulus) และประสบการณ์ (experience) ที่เขามีอยู่ทำให้อารมณ์แปรเปลี่ยนไปมา ซึ่งอารมณ์ในลักษณะดังกล่าวนี้จะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรม ของบุคคล ดังจะเห็นได้จากกรณีที่คุณพ่อคนหนึ่งกำลังคอยลูกสาวอายุ ๑๕ ปี กลับบ้าน เนื่องจาก ไปงานที่สโมสร ระหว่างนั่งคอยจะเกิดความเป็นห่วง ความกลัวเกิดอันตราย พอได้ยินเสียงโทรศัพท์จึงรีบไปรับ เสียงลูกสาวบอกว่า ประมาณ ๒๐.๐๐ น. จะกลับมาถึงบ้าน พ่อจะรู้สึกสบายใจคลายความห่วงใย แต่เวลาเกือบ ๒๔.๐๐ น. แล้วลูกสาวก็ยังไม่กลับ พ่อรู้สึกหงุดหงิด โกรธ พอได้ยินเสียงกริ่งดัง จึงรีบไปเปิดประตู เห็นลูกสาวกลับมาอารมณ์จะเปลี่ยนไปเป็นดีใจ ความกลัวว่า จะเกิดอันตรายได้หายไป แต่อาจยังโกรธอยู่เพราะกลับดึกมากเกินไป และอาจนอนคิดโกรธตลอดคืนก็ได้
อารมณ์เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นภายใน เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ และเป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจ ที่จะนำไปสู่พฤติกรรมนั้น อารมณ์และแรงจูงใจจึงเป็นปรากฏการณ์ที่เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด กล่าวคือ แรกเริ่มที่มีอารมณ์เกิดขึ้น พฤติกรรมการจูงใจก็จะเกิดตาม ตัวอย่างเช่น เกิดความรู้สึกรักและพึงพอใจจะทำให้เกิดพฤติกรรมทางเพศตามมา ซึ่งอาจเป็นการอยากไปพบหน้าคนที่รัก อยากอยู่ใกล้ อยากพูดคุยด้วย หรืออีกกรณี ขณะที่บุคคลมีความรู้สึกโกรธ พฤติกรรมทางการก้าวร้าว ก็จะตามมา อย่างไรก็ตามการเชื่อมโยงกันดังที่กล่าวคงไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะพฤติกรรมทางเพศ สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่มีอารมณ์ และความก้าวร้าวก็จะเกิดขึ้นได้โดยไม่มีความโกรธ ในทางกลับกันความรักอาจ เกิดขึ้นได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับ พฤติกรรมทางเพศ และความโกรธก็เกิดขึ้นได้โดยไม่มีความก้าวร้าว หรือบางครั้ง ก็มีอยู่บ่อย ๆ ที่อารมณ์และแรงจูงใจไม่เชื่อมไปด้วยกัน

อารมณ์ มาจากภาษาอังกฤษ "Emotion" มีความหมายว่าการเกิดการเคลื่อนไหว หรือภาวะที่ตื่นเต้น มันเป็นการยากที่จะบอกว่า อารมณ์คืออะไร แต่มีแนวคิดหนึ่ง ที่ให้ความเข้าใจได้ง่ายกล่าวไว้ว่า อารมณ์เป็นความรู้สึกภายในที่เร้า ให้บุคคลกระทำ หรือเปลี่ยนแปลงภายในตัว ของเขาเอง ซึ่งความรู้สึก เหล่านี้จะเป็นความรู้สึกที่พึงพอใจ ไม่พึงพอใจ หรือรวมกันทั้งสองกรณี อารมณ์เป็นสิ่งที่ไม่คงที่มีการแปรเปลี่ยน อยู่ตลอดเวลา ดังจะเห็นได้จากกรณีที่พ่อกำลังคอยลูกสาวอายุ ๑๕ ปี ที่กล่าวข้างต้น
จากความหมายและธรรมชาติของอารมณ์ ทำให้นักจิตวิทยาทั้งหลายมีความเห็นว่าองค์ประกอบของอารมณ์จะแบ่งออกเป็น ๓ อย่าง (Baron, ๑๙๘๙ : ๓๐๔) ดังนี้
๑. สภาวะการรู้คิด (cognitive states) เป็นความรู้สึกของผู้ที่กระทำหรือประสบการณ์ต่าง ๆ ของบุคคล อย่างเช่น เราเคยรู้สึกโกรธ ร่าเริง สะอิดสะเอียน เป็นต้น
๒. ปฏิกิริยาทางสรีระ (physiological reactions) เป็นการเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายของเรา เช่น หัวใจเต้นเร็วขึ้นเมื่อรู้สึกตื่นเต้นหรือตกใจ
๓. การแสดงออกของพฤติกรรม (expressive bahaviors) เป็นสัญญาณการแสดงออกของสภาวะภายใน เช่น เกิดความพอใจก็จะแสดงการยิ้ม หรือเมื่อโกรธก็อาจกล่าววาจาต่อว่าออกมา หรือแสดงการกระทืบเท้า, ตบตี
องค์ประกอบทั้งสามอารมณ์ : สภาวะการรู้คิด ปฏิกิริยาทางสรีระ และการแสดงออกพฤติกรรม

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Holiday